top of page
ค้นหา

อาหารบาร์ฟใส่กระดูก 10% พอแล้วหรือ? แล้ว Dr. Ian Billinghurst ล่ะ จะว่าอย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 6 ก.พ. 2567

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารบาร์ฟคงจะเคยได้ยินทฤษฏีของ Dr. Ian Billinghurst ที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาบ้างไม่มากก็น้อย ทฤษฏีที่ว่าความสมดุลทางชีวภาพของอาหารดิบสดจะเกิดขึ้นจากการให้เนื้อสัตว์ล้วนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีเนื้อสัตว์ติดกระดูก หรือที่เรียกว่า Raw Meaty Bone (RMB) ผสมอยู่ด้วย หาก Raw Meaty Bone (RMB) ชิ้นนั้นมีอัตราส่วนกระดูกต่อเนื้อสัตว์อยู่ที่ประมาณ 1 : 1 ความสมดุลของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสก็จะมีความเหมาะสมสำหรับการเสริมสร้างกระดูกสำหรับสุนัขที่กำลังเติบโต ย้ำอีกครั้งนะคะ ว่าสัดส่วนที่พูดถึงนี้ คือสัดส่วนของเนื้อสัตว์ติดกระดูกเท่านั้น เช่น น่องไก่ ปีกไก่ คอไก่ เป็นต้น


“Approximate biological balance is achieved so long as meat alone is not the principal dietary component. That job must be left to the raw meaty bones (RMBs). When a young and growing dog eats RMBs, if the bone to meat ratio of those RMBs is around 1:1, then the balance of calcium to phosphorus is appropriate for bone mineralization and formation.” - Dr Billinghurst

หมา แมว อุจจาระสีขาว

Dr. Ian Billinghurst ยังเสริมอีกว่า สุนัขที่โตเต็มวัยแล้วจะต้องการแคลเซียมที่น้อยลง การให้ RMB กับน้องๆ สุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว พวกเค้าจะย่อยและดูดซึมแคลเซียมที่จำเป็นต่อการใช้งานในร่างกายเท่านั้น ส่วนที่เกินจากความจำเป็น ก็จะทิ้งไว้ในลำไส้และขับออกมาในรูปแบบอุจจาระ สังเกตุได้ว่าถ้าสุนัขต้องเบ่งอุจจาระ และออกมามีลักษณะเป็นสีขาว นั่นคือกระดูกส่วนเกินที่น้องได้กินเข้าไป


แต่เอ๊...... สัดส่วน 1 : 1 ที่พูดถึงนี้ ใช่การให้เนื้อสัตว์ 50% ต่อกระดูกอีก 50% ของทั้งมื้ออาหารเลยหรือเปล่านะ? ตอบเลยว่า ถ้าจะตีความแบบนั้นก็คงจะไม่ถูกต้อง เพราะตามทฤษฏีแล้ว หากจะตีความให้ชัดเจน อัตราส่วน 1 : 1 นี้ Dr. Ian Billinghurst พูดถึงแค่อัตราส่วนของเนื้อสัตว์ติดกระดูก Raw Meaty Bone (RMB) เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงมื้ออาหารทั้งหมดนะ เพราะในหนึ่งมื้ออาหาร สุนัขไม่เพียงต้องการกระดูกกับเนื้อสัตว์เท่านั้น ยังมี เครื่องใน ผัก ผลไม้ และอาหารเสริมต่างๆ นับว่ามีส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลากชนิดที่ต้องนำมาคำนวณสัดส่วนอย่างละเอียดอีกที ถึงจะทำให้มื้ออาหารนั้นสมบูรณ์ หรือแม้แต่ทำให้สารอาหารครบตามมาตรฐาน AAFCO FEDIAF หรือ NRC (เราจะได้ลองคำนวณปริมาณกระดูกล้วน หรือ Bone Content ในเนื้อสัตว์ติดกระดูกในส่วนถัดไป)


It's All About Balancing ความสมดุลต้องมาเป็นที่ 1

สุนัขจะต้องการความสมดุลของปริมาณแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสอยู่ที่ประมาณ 1 : 1 แต่ไม่ควรเกิน 2 : 1 และมีปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ที่ 1.25 g. - 4.5 g. ต่ออาหาร 1,000 Calories [AAFCO Dog and Cat Food Nutrient Profiles1] อัตราส่วนนี้มีความสำคัญต่อสุนัขที่กำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก อาหารที่มีแคลเซียมต่ำเกินไปจะทำให้เกิดปัญหากระดูกโดยเฉพาะบริเวณกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลัง ในขณะที่อาหารที่ให้แคลเซียมสูงเกินไปอาจไปรบกวนการสร้างแร่ธาตุและการเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขพันธุ์ใหญ่ หากได้รับแคลเซียมมากเกินไปก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน หรือการเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ


เนื้อสัตว์ มีฟอสฟอรัสสูงและมีแคลเซียมต่ำ

กระดูก มีแคลเซียมสูงกว่าฟอสฟอรัส


อาหารบาร์ฟใส่กระดูก 10% พอแล้วหรือ?

จากข้อมูลการศีกษาของ Institute of Nutrition, Mahidol University กระดูกไก่ล้วนไม่ติดเนื้อ (ฺBone Content) จะมีแคลเซียมอยู่ที่ 5.5 g/100 g (wet basis, as fed) และให้แคลอรี่อยู่ที่ 298 Calories ต่อ 100 g. นั่นหมายความว่ากระดูกล้วน 1,000 Calories จะมีแคลเซียมอยู่ที่ 18.46 กรัม หากเทียบบัญญัติไตรยางศ์แล้ว การใช้กระดูกเพียง 10% ของแคลลอรี่ทั้งหมด จะให้แคลเซียมในมื้ออาหารนั้นๆ อยู่ที่ 1.846 กรัม ต่ออาหาร 1,000 Calories อยู่ในระดับที่เหมาะสมแบบพอดิบพอดีเลย


ทีนี้ก็พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมการให้บาร์ฟ โดยทั่วไปแล้วปริมาณกระดูกล้วนไ่ม่ติดเนื้อหรือที่เราเรียกว่า Bone Content ควรอยู่ที่ 10% ในแต่ละมื้ออาหารก็เพียงพอแล้ว … และไม่ควรเกิน 15% เพราะสุนัขก็ต้องการสารอาหารอื่นๆ เช่นกัน โดยปริมาณ Bone Content ที่ 10% ในมื้ออาหาร จะให้ปริมาณแคลเซียม และอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสตามข้อกำหนดของ AAFCO FEDIAF และ NRC แบบพอดิบพอดี! เพราะถ้าหากใส่กระดูกมากกว่านี้ สัดส่วนและปริมาณแคลเซียมคงไม่สวยแบบนี้แน่ๆ แถมสารอาหารสำคัญอื่นๆ ที่ควรจะได้จากเนื้อสัตว์ เครื่องใน ผักผลไม้ ก็จะหายไปอีก!


**คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะเข้าใจสับสน: Bone Content คือปริมาณกระดูกล้วน ไม่นับรวมเนื้อสัตว์ที่ติดมานะคะ


Let's Calculate Bone Content คำนวณปริมาณกระดูกในเนื้อสัตว์กัน

เวลาเราจะสรรหาเนื้อสัตว์ติดกระดูก (RMB) ให้กับน้องๆ สุนัข สิ่งสำคัญคือเราต้องทราบปริมาณกระดูกโดยประมาณในเนื้อชิ้นนั้นด้วย เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่จัดปริมาณกระดูกให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมระหว่าง 10 ถึง 15%


ข้อมูลจาก US Department of Agriculture’s (USDA) National Nutrient Database. ได้บอกสัดส่วนกระดูกเป็นเปอร์เซ็นดังนี้ (ส่วนที่เหลือคือส่วนเนื้อ)


ไก่

  • ไก่ทั้งตัว (ไม่รวมหัวและตีน): 25%

  • ขาไก่: 30%

  • สะโพกไก่: 15%

  • น่องไก่: 30%

  • ปีกไก่: 45%

  • คอไก่: 36%

  • หลังไก่: 45%

  • ตีนไก่: 60%

  • หัวไก่: 75%

เป็ด

  • เป็ดทั้งตัว (ไม่รวมหัวและตีน): 28%

  • คอเป็ด: 50%

  • ตีนเป็ด: 60%

วัว

  • ซี่โครง: 52%

  • หางวัว: 45% ถึง 65% (เปอร์เซ็นต์จะเพิ่มขึ้นเมื่อหางบางลงและมีเนื้อน้อยลง)

กระต่าย

  • กระต่ายทั้งตัว: 10%

มาดูตัวอย่างกัน: สมมุติว่าใน 1 มื้ออาหารน้องสุนัขต้องกินบาร์ฟ 100 กรัม คุณให้ปีกไก่รวมเป็น 60% (60 กรัม) ของมื้ออาหารทั้งหมด ในส่วนที่เหลืออีก 40% (40 กรัม) อาจเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องใน และผักผลไม้อื่นๆ ซึ่งในปีกไก่จะมีปริมาณกระดูกหรือ Bone Content ที่ 45% ดังนั้นในกรณีนี้ จะพูดง่ายๆ ก็คือ สุนัขจะได้กินกระดูก 45% ของปีกไก่ 60 กรัม (คูณ 0.45 ด้วย 60 = 27%) พอคำนวณแล้วคุณจะเห็นว่าสุนัขของคุณกินกระดูกเกือบ 27% ซึ่งมากเกินไป!


ทีนี้มาลองใหม่ เปลี่ยนมาให้ปีกไก่สัก 30% (30 กรัม) และส่วนที่เหลืออีก 70% (70 กรัม) เป็นเนื้อสัตว์ เครื่องใน และผักผลไม้อื่นๆ สุนัขจะได้กินกระดูก 45% ของปีกไก่ 30 กรัม (คูณ 0.45 ด้วย 30 = 13.5%) ทีนี้น้องก็จะได้กินกระดูกที่ 13% แล้ว! ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่เลวเลย อยู่ระหว่าง 10 - 15% พอดี!


การให้อาหารที่มีความสมดุลระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นเรื่องง่าย … เพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขของคุณได้กินกระดูกอยู่ระหว่าง 10% ถึง 15% ก็ให้สุนัขของคุณกินเนื้อสัตว์ติดกระดูก (RMB) ที่ประมาณ 25% ถึง 60% ในมื้อนั้นๆ ขึ้นอยู่กับชิ้นเนื้อสัตว์ติดกระดูก (RMB) ที่เลือกใช้ เช่น ถ้าหากเลือกใช้สะโพกไก่ ซึ่งมี Bone Content ต่ำ ที่ 15% คุณอาจจะต้องให้น้องทานสโพกไก่ถึง 70% ของมื้ออาหาร จึงจะได้รับปริมาณกระดูกที่ 10.5% (0.15 x 70 = 10.5%) จึงจะเพียงพอต่อร่างกาย


อย่างนี้เราเข้าใจผิดมาตลอดเลยหรอว่ากระดูกต่อเนื้อต้อง 50 : 50

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่รู้อย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะมาคำนวณการให้กระดูกน้องๆ กันใหม่นะคะ ในช่วงระยะเวลา 30 ปีหลังจากทฤษฎีของ Dr. Ian Billinghurst ได้มีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์หลายงานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากองค์กร มหาวิทยาลัย หรือแม่กระทั่งสถาบันควบคุมดูแลอาหารสัตว์สากล ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา จัดระเบียบ และให้ความรู้เกี่ยวกับการให้อาหารบาร์ฟอย่างแพร่หลาย (คลิกดูตัวอย่างงานวิจัย)


แบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศก็ได้ปรับเปลี่ยนสูตรอาหาร ควบคุมปริมาณแคลเซียม เพิ่มความโปร่งใสและจรรยาบรรณของแบรนด์ โดยการใส่กระดูกให้น้อยลง ไม่ลดต้นทุนโดยการใช้กระดูกเกินมาตรฐาน และรักษาปริมาณกระดูกให้อยู่ระหว่าง 10 - 15% ตัวอย่างแบรนด์ดังรูปด้านล่าง



แต่อย่างไรก็ตาม การจัดสรรมื้ออาหารไม่ได้มีเพียงแคลเซียมกับฟอสฟอรัสอย่างเดียวที่สำคัญ แต่ยังมีสารอาหารอีกเกือบ 40 ชนิดที่องค์กรสากลเน้นศึกษาและให้ความสำคัญกับสุนัข การจะทำให้มื้ออาหารมีความหลากหลายและครบถ้วนตามโภชนาการมาตรฐานสากลนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำได้เองที่บ้าน เพราะความซับซ้อนของการคำนวณสารอาหารและการส่งตรวจปริมาณสารอาหารที่อาจต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก มื้อไหนที่คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยจากการเตรียมอาหาร ก็สามารถพักกายพักใจให้ Hound Origin ดูแลได้เลยนะคะ


[1] Nutrient Requirements of Dogs and Cats, National Research Council of The National Academies of Science, Washington, D.C. (2006), Table 15-5 “Nutrient Requirements for Growth of Puppies After Weaning”, Wasington, D.C., page 357



เขียนและเรียบเรียงโดย

Khemisara Itthisithawong

Certified NAVC Pet Nutritionist

ดู 75 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page